Thursday, July 15, 2010

ทำความรู้จักกับ RGB,sRGB

เป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับคอกล้องหลายๆ คนกับเรื่อง sRGB กับ AdobeRGB ว่าจะใช้ตัวไหนดี? ตัวไหน เป็นอย่างไร? และอีกสารพัดคำถามที่ตามกันมาติดๆ

ในฐานะที่เป็นคนหลังกล้อง และที่หลังกล้องก็มีเจ้า 2 ตัวที่ว่านี้มาให้เลือกก็จำเป็นอยู่บ้างที่จะรู้จักมันเอา
ไว้ ถึงแม้จะไม่ต้องถึงกับใส่บ่าแบกหามก็ตามที

ทั้ง sRGB และ Adobe RGB ต่างก็เป็น Color Space หรือภาษาบ้านเราเรียกว่า “ปริภูมิสี” หมายถึงช่วงการใช้งานสีของอุปกรณ์นั้นๆ ว่าจะมีจำนวนสีให้เลือกใช้มากเท่าใด?

sRGB เป็นการร่วมมือกันพัฒนาขึ้นระหว่าง Microsoft และ Hewlette-Packard (HP) เพื่อนำไปใช้งานใน ระบบแสดงผลของจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งหลังจากที่ได้กลายมาเป็นมาตรฐานสำหรับการแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์ แล้ว ก็ยังได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับการแสดงผลในระบบ Internet อีกด้วย ระบบ sRGB สามารถแสดงช่วงของ สีที่คิดได้เป็นปริมาณ 35% ของสีที่มองเห็นได้จริงตามมาตรฐานของ CIE (Commission International de l' éclairage) ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป

ส่วน Adobe RGB 1998 คือผลงานของ Adobe Systems Inc. (ผู้ผลิต Photoshop และอีกหลายๆโปรแกรม ที่มีชื่อเสียงทางด้านสิ่งพิมพ์) ซึ่งเห็นว่าน่าจะมี Color Space ที่ใช้งานได้กว้างจึงได้พัฒนามันขึ้นมานัยว่าเพื่อรองรับ งานระดับ “มืออาชีพ” ซึ่งในการจัดการก็ต้องมืออาชีพด้วย มันสามารถแสดงช่วงสี ได้ถึง 50% จากสีที่มองเห็นได้จริง





Color Space เป็นสิ่งที่สำคัญต่องานภาพถ่ายอย่างมากซึ่งมันจะเป็นตัวชี้คุณภาพทางด้านสีของภาพได้เลย หากเราเข้าใจและควบคุมมันอย่างถูกวิธี
ชาร์ตสีด้านซ้ายที่เรานำมาให้ดูนี้แสดงพื้นที่ของช่วงขอบเขตสีของทั้งสองแบบโดยพื้นที่สีทั้งหมดคือสีที่ดวง ตาสามารถมองเห็นได้ (แน่นอนว่าต้องเป็นผู้ที่มีสายตาเป็นปกติ)โดยพื้นที่ในเขตเส้นสีน้ำเงินคือขอบเขตของ sRGB และในเส้นสีส้มคือขอบเขตของ Adobe RGB 1998 ลืมสีเหลืองไปซะก่อน...

จะเห็นได้โดยไม่ต้องเดาให้ปวดขมับว่า Adobe RGB 1998 มีขอบเขตหรือช่วงของสีมากกว่า sRGB นั่นหมาย ถึงว่ามันมีระดับของสีให้ใช้กว้างกว่า...ไม่ต้องคิดมาก มันก็เหมือนเรามีดินสอสีมาตรฐาน 12 สี 1กล่องในชั่วโมงศิลปะ แต่เพื่อนผู้ร่ำรวยของเรามีดินสอสีชุดพิเศษ 20 สี ไล่ระดับพร้อมสรรพ ถ้าความสามารถสูงเท่ากันคุณว่าใครที่จะระบาย สีโดเรมอนได้สวยงามกว่ากัน?

สิ่งที่ Adobe RGB มีเหนือกว่าเป็นพิเศษก็คือช่วงของสีน้ำเงิน (Cyan) - เขียว ที่สามารถไล่ระดับได้ “เนียน” ยิ่งขึ้นกว่า sRGB นั่นหมายความว่าในการถ่ายภาพต้นไม้ใบหญ้า สีเขียวของใบไม้ก็จะถูกถ่ายทอดออกมาได้ สวยงามและเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น (นี่เป็นแค่ตัวอย่างทางสีเขียวที่เรายกมา) เพราะมีช่วงสีเขียวจากสว่างไปหา มืดที่กว้างกว่า แต่โปรดชายตามองอีกครั้งว่านอกจากระดับสีเขียวที่มีมากกว่าแล้ว มันยังแอบมีระดับสีเหลือง, ส้ม, แดง ที่เหนือกว่าอยู่อีกเล็กน้อยด้วย ลองจินตนาการถึงภาพถ่ายพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าของคุณดูสิ! ......................................

ก็แล้วในเมื่อ Adobe RGB 1998 มันเจ๋งกว่า แล้วจะมานั่งใช้ sRGB กันทำไมให้มันวุ่นวายอีกล่ะ?

ตอบแบบกวนประสาทก็ว่า แล้วทำไมคุณไม่ใช้เครื่อง Mac ล่ะ หรือถ้าคุณใช้ ทำไม่เพื่อนคุณไม่ใช้ล่ะ? ก็ในเมื่อมันเจ๋งกว่านี่?

โอ...เรายังไม่อยากไปพบแพทย์ก่อนเวลาอันควร เราจึงตอบว่า AdobeRGB 1998 จริงๆแล้วเหมาะกับอะไรที่ค่อนข้าง ซีเรียสกับเรื่องสีซึ่งก็ต้องใช้ทุนที่มากขึ้นไปอีกในการเตรียมเครื่องมือ และระบบต่างๆ เพื่อให้รองรับการทำงาน ของมัน ที่เขาใช้ๆ กันอยู่ก็อย่างเช่นทางด้านการผลิตสิ่งพิมพ์ ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือนั้นไม่ได้ถูกเลย หรือคิดง่ายๆ แค่จอ ภาพที่จริงจังเรื่องสีในระดับมืออาชีพพร้อมที่จะแสดงสีในขั้นเทพออกมาให้ดู นั้น แค่ได้ยินราคาขนก็ลุกเกรียวแล้ว!


ในส่วนของงานถ่ายภาพ ถ้าคุณเป็นนักถ่ายภาพทั่วไปที่ยังไม่ได้จำเป็นในเรื่องสีตรงเป๊ะๆ แล้วละก็ sRGB ก็เหมาะและน่าจะเพียงพอสำหรับคุณแล้วเพราะร้านอัด-ขยายภาพทั่วไปส่วนใหญ่รับแต่ sRGB ถ้าคุณใช้ Adobe RGB และก็ค่อนข้างพอใจกับสีแล้วคุณอาจน้ำตาตกได้เมื่อส่งไปอัดที่ร้าน เพราะเขาจะแปลงกลับมาเป็น sRGB ก่อนที่ จะพิมพ์มันออกมา ซึ่งช่วงสีในภาพที่มันเลยขอบเขตของ sRGB ออกไปก็จะถูกดึงกลับเข้ามาในเขตของ sRGB สีเขียว เจ๋งๆ ของคุณจะไปเหลืออะไรล่ะ?

ทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น?

ก็เพราะว่าเครื่องมือของเขามันรองรับแต่ sRGB น่ะสิ! ถ้าคุณอยากใช้ Adobe RGB จริงล่ะก็ คุณต้อง
ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของกระบวนการจัดการสี (CMS) แล้วล่ะเพราะถ้าไม่แม่นจริง คุณต้องพลาดในขั้นตอนใดขั้นตอนนึงแน่ๆ ...

ถ้าอะไรๆ มันสมบูรณ์แบบไปหมดล่ะก็ พวกเราคงไม่ต้องเอารถไปติดแก๊สกันให้วุ่นหรอก...คุณว่าจริงมั๊ย?

1 comment: